ความมุ่งมั่นในการลดโลกร้อน : ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มต่ำที่สุด!
เมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศไทยเราได้ถูกลดอันดับความโปร่งใสจากอันดับที่ 70 ใน 168 ประเทศเมื่อปี 2558 มาเป็นอันดับที่ 101 จาก 176 ประเทศในปี 2559 ทำให้นายกรัฐมนตรีอารมณ์เสียพอสมควร
มาวันนี้ ผมขอนำเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องดีเกี่ยวกับความรับผิดชอบหรือศักดิ์ศรีของประเทศไทยมาเล่าสู่กันฟังอีกสักเรื่องครับ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันโดยตรง เพราะท่านเป็นผู้ประกาศต่อชาวโลกเองที่กรุงปารีสว่า ประเทศไทยจะร่วมลดก๊าซเรือนกระจก (เป็นต้นเหตุปัญหาโลกร้อน) ลง 20-25% ภายในปี 2030 หรืออีก 15 ปีนับจากวันประกาศ ซึ่งฟังดูก็เป็นการลดที่มากพอสมควร
แต่องค์กรที่ชื่อว่า The Paris Equity Check (ตรวจสอบความยุติธรรมกรณีปารีส) ได้จัดให้ประเทศไทยเรามีความมุ่งมั่นที่จะลดในระดับต่ำที่สุด จากทั้งหมด 6 อันดับ เรียกว่าไม่ได้สักดาว ซึ่งประเทศจีนที่ปล่อยก๊าซมากที่สุดในโลกก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ผมมีแผนที่พร้อมอันดับมาให้ดูด้วยครับ
เกณฑ์ในการจัดอันดับค่อนข้างจะซับซ้อนครับ เช่น คำนึงถึงประวัติการปล่อยก๊าซในอดีต ความร่ำรวยของแต่ละประเทศ ปริมาณการปล่อยต่อหัวประชากร เป็นต้น ซึ่งผมจะไม่ขอลงในรายละเอียด
อยากให้ดู 4 ประเทศครับ สหรัฐอเมริกาซึ่งประกาศจะลดลงเหลือ 70.2% ของระดับปี 2010 ยังถูกจัดให้ได้แค่ 1 ดาวเท่านั้น แต่เปรูประกาศจะลดลงเหลือ 87.2% ของปี 2010 ได้ 5 ดาวสูงที่สุด
ประเทศอินเดีย ในปี 2030 จะเพิ่มเป็น 217% ได้ 2 ดาว ในขณะที่ประเทศไทยเราจะเพิ่มเป็น 111% ของปี 2010 ไม่ได้สักดาวครับ
หลายท่านอาจจะรู้สึกแย้ง แต่องค์กรนี้คิดถูกต้องแล้วครับ (ตามเกณฑ์ที่กล่าวแล้ว) เพราะคนอินเดียจำนวนมากยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ในขณะที่คนไทยเรามากกว่า 99.5% มีไฟฟ้าใช้แล้ว เป็นต้น
เรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ตรัสเมื่อปี 2532 ว่า “ต้องมีความรับผิดชอบต่อโลก เป็นความดีของประเทศไทย มีความดีแล้วต้องรักษาความดี”
ท่านผู้อ่านอาจจะรู้สึกสงสัยว่า ในเมื่อประเทศไทยประกาศว่าจะลดลง 20-25% แต่ทำไมกลับเพิ่มขึ้นเป็น 111%
ความจริงแล้ว ประเทศไทยเราได้ประกาศจะลดลงจากระดับที่พยากรณ์ไปในอนาคตภายใต้สถานการณ์ปกติ คือยังไม่มีนโยบายใดๆ (Business as Usual) อนาคตที่ว่าคือปี 2030 (หรือ พ.ศ. 2573) ซึ่งพยากรณ์ว่าเท่ากับ 555 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 426 ล้านตัน (ที่เหลือเป็นมีเทนและไนตรัสออกไซด์)
นี่เป็นข้อเสนอที่กำกวม เพราะไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าจะเป็นเท่าใด แต่ผมพบว่าเป็นข้อเสนอที่มีเล่ห์เหลี่ยมครับ ผมมีภาพที่มีรายละเอียดครบถ้วนมาให้ดูด้วย
แต่ผมขอสรุปเป็นภาษาตลาดๆ เข้าใจง่ายๆ ว่า เหมือนกับแม่ค้าบอกราคาสินค้าให้แพงไว้ก่อน แล้วประกาศลดลงมาให้ลูกค้ารู้สึกดี
คือในอดีต (2005-2016) ประเทศไทยเคยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 6 ล้านตัน แต่พยากรณ์ว่าในอนาคต (2015-2030) จะเพิ่มขึ้นปีละ 11 ล้านตัน จากนั้นก็ประกาศจะลดลง 20% ในที่สุดก็ปล่อยเพิ่มในอัตราเดิมคือเฉลี่ยปีละ 6 ล้านตัน
โดยไม่ได้ลดลงจริงจากอดีตเลย นี่หรือที่ประกาศซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าจะเดินตามรอยเท้าพ่อ!
ผมพยายามปรับปรุงการเขียนบทความให้สั้นที่สุด เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัย ผมขออีก 2 รูป แต่เขียนน้อยๆ ครับ
หน่วยงานของรัฐมักจะอ้างเสมอว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 7,390 เมกะวัตต์จะไม่กระทบต่อสัตยาบันในข้อตกลงปารีส แต่ลองดูภาพข้างล่างนี้ซิครับ
ในปี 2558 ประเทศไทยได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการผลิตไฟฟ้ามากกว่าในแผนพีดีพี 2015 เรียบร้อยไปแล้วถึง 11 ล้านตัน หรือเกินไปถึง 13% คิดในกรอบของเราเองก็ละเมิดแล้ว
ผมเชื่อว่า องค์กร The Paris Equity Check คงจะยังไม่รู้ว่า ประเทศไทยได้ใช้เล่ห์เพทุบายอย่างไร ในข้อเสนอในสัตยาบัน แต่คนไทยเราจะต้องรู้ไม่ช้าก็เร็วครับ
รูปสุดท้ายครับ เมื่อเดือนธันวาคม 2559 บริษัท LAZARD ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินระดับนำของโลก ได้ออกรายงานวิจัยชิ้นหนึ่ง พบว่า ต้นทุนไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดโครงการ (LCOE) ของกังหันลม และโซลาร์เซลล์ได้ลดลง 66% และ 85% ในช่วง 7 ปีหลังสุดโดยต้นทุนไฟฟ้าจากกังหันลมอยู่ในช่วง 1.32-2.19 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยของโรงไฟฟ้าถ่านหินอยู่ระหว่าง 1.80-5.10 บาทต่อหน่วย (แต่ไม่อยู่ในภาพ) นั่นคือในบางกรณีไฟฟ้าจากกังหนลมถูกกว่าถ่านหินแล้ว
แต่รัฐบาลไทยรับซื้อไฟฟ้าจากกังหันลมในราคาหน่วยละ 6.06 บาท บวกกับค่าไฟฟ้าปกติรวมประมาณ 9.50 บาทต่อหน่วย
สุดท้ายครับ ผมได้โพสต์ข้อมูลเชิงสถิติว่า “ในช่วง 2015-2023 ประเทศสหรัฐอเมริกาก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มเฉลี่ยเดือนละ 20 เมกะวัตต์ แต่ยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินเฉลี่ยเดือนละ 291 เมกะวัตต์”
ปรากฏว่ามีเพื่อนคนไทยที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาให้ข้อมูลว่า “ผมขับรถบรรทุก ผ่าน 48 รัฐ เท่าที่เห็นมีแต่ทุบทิ้ง ปิดกิจการ ไม่เห็นสร้างใหม่ แถมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ บางโรงก็ปิดแล้ว! ผมงงเจอทหารบางคนในไทย โง่หรือแกล้งโง่ บ้านเมืองถึงไม่เจริญ”
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่รัฐบาลทหารจะไม่มีความรู้ในเรื่องพลังงาน เรื่องโลกร้อนที่ดีพอ แต่ถ้าเริ่มต้นด้วยความไม่จริงใจ รับฟังแต่จากกลุ่มผลประโยชน์ทับซ้อนเท่านั้น ก็น่าจะไปได้ไม่สวยแน่นอนครับ