ข้อเสนอต่อการปฏิรูปด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

“การปฏิรูปประเทศ” นับเป็นวาระสำคัญของสังคมไทยที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกัน และพยายามเรียกร้อง ผลักดันให้การปฏิรูปเกิดความก้าวหน้า จนนำไปสู่การจัดตั้ง “สภาปฏิรูปแห่งชาติ” ขึ้นเป็นครั้งแรก และได้มีการกำหนดเป็นหัวข้อการปฏิรูปไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 รวม 11 หัวข้อ
การปฏิรูปด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความหมายครอบคลุมการปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวข้อการปฏิรูปสำคัญเรื่องหนึ่งที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว (โดยกำหนดรวมอยู่ในหัวข้อ “การปฏิรูปด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม”) เนื่องมาจากสภาพวิกฤตของปัญหาสิ่งแวดล้อมและความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างการพัฒนาประเทศ การจัดทำโครงการพัฒนาขนาดใหญ่กับการดูแลอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สิทธิชุมชน และการคุ้มครองสุขภาวะของชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุกภูมิภาค
ในการดำเนินงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ผ่านมา ได้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ขึ้นมา โดยแยกออกมาจากการปฏิรูปด้านสาธารณสุข เพื่อให้สามารถศึกษาและจัดทำข้อเสนอเชิงลึกได้อย่างเต็มที่ มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมา 7 คณะเพื่อศึกษาและจัดทำข้อเสนอปฏิรูปในหัวข้อที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ด้านทรัพยากรน้ำ ด้านป่าไม้และที่ดิน ด้านทรัพยากรทางทะเล ด้านผังเมืองและการใช้พื้นที่ ด้านระบบ EIA ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และด้านกลไกและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยได้จัดทำเอกสารข้อเสนอออกมารวมอยู่ในข้อเสนอ 37 วาระการปฏิรูปของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ช่วงเวลานับจากนี้ จึงเป็นจังหวะสำคัญของการผลักดันการรูปให้เกิดผลในทางปฏิบัติทั้งในช่วงเวลา ก่อนการเลือกตั้ง และการปฏิรูปที่ต่อเนื่องหลังช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งต้องอาศัยฐานความรู้ที่เหมาะสมและเพียงพอ
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยจึงได้สนับสนุนการดำเนินโครงการชุดความรู้เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการปฏิรูป ประเทศ เพื่อสร้างกระบวนการในการสังเคราะห์ความรู้จากงานศึกษาวิจัย เพื่อเป็นข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และได้มีการจัดพิมพ์เป็นชุดหนังสือข้อเสนอการปฏิรูปในด้านต่างๆ ประกอบด้วยข้อเสนอปฏิรูปฐานทรัพยากรธรรมชาติ 3 หัวข้อ ได้แก่
การบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้และที่ดิน โดย ผศ. อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์
การบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดย ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์
การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดย รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์
และข้อเสนอปฏิรูปด้านสิ่งแวดล้อมและเครื่องมือกลไก 4 หัวข้อ ได้แก่
การบริหารจัดการขยะ โดย ผศ.ดร. พิชญ รัชฏาวงศ์
การบริหารจัดการคุณภาพอากาศ โดย รศ.วงศ์พันธ์ ลิมปเสนีย์
การบริหารจัดการคุณภาพน้ำ โดย รศ.ดร. อรทัย ชวาลภาฤทธิ์
การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดย ปาริชาต ศิวะรักษ์
ข้อเสนอการปฏิรูปในแต่ละหัวข้อ จะนำเสนอสถานการณ์และข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับปัญหาที่บ่งชี้ความจำเป็นและความ สำคัญของการปฏิรูป การดำเนินงานที่ผ่านมาและที่กำลังเกิดขึ้น พร้อมทั้งข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปในเชิงระบบและโครงสร้าง
การปฏิรูปเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง และไม่อาจประสบผลสำเร็จได้โดยง่าย เนื่องจากเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับองค์กรทุกภาคส่วน ทั้งที่เป็นหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานนอกภาครัฐ และภาคประชาสังคม และอาจมีแรงเฉื่อย แรงต้านจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง การขับเคลื่อนการปฏิรูปบนฐานองค์ความรู้จากงานศึกษาวิจัยนับเป็นปัจจัยประการหนึ่งที่จะช่วยให้การปฏิรูปมีโอกาสประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น